การวิเคราะห์ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ ปัญหาของดินในแปลงปลูกพืช พร้อมกับคำแนะนำในการแก้ไขปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การใส่ปุ๋ย การใช้ปูนปรับปรุงดินกรด รวมทั้ง การใช้วัสดุหรือสารปรับปรุงดินอย่างอื่นตามความจำเป็น เพื่อให้การปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่ม และมีคุณภาพดีขึ้น
การเก็บตัวอย่างดินที่ถูกต้อง
ตัวอย่างดินที่เก็บมาต้องเป็นแทนที่ดีที่สุดของดินแปลงที่จะปลูก มีหลักสำคัญการเก็บตัวอย่างดิน พอสังเขปดังนี้ (คู่มือเก็บตัวอย่างดินอย่างละเอียด)
- ควรเก็บหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือก่อนเตรียมดินแปลงปลูกพืชครั้งต่อไป
- พื้นที่เก็บตัวอย่างดินไม่ควรเปียกแฉะหรือมีน้ำท่วมขัง แต่ควรมีความชื้นเล็กน้อยจะทำให้ขุดและเก็บได้ง่าย
- ไม่เก็บตัวอย่างดินบริเวณที่เคยเป็นบ้าน โรงเรือน จอมปลวก อาคารที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ และบริเวณจุดที่มีปุ๋ยตกค้าง
- อุปกรณ์เก็บตัวอย่างดินต้องสะอาด ไม่เปื้อนดิน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช หรือสารเคมีอื่นๆ
- บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอย่างดินของแต่ละตัวอย่างตามแบบฟอร์ม
วิธีเก็บตัวอย่างดิน
- เตรียมอุปกรณ์ในการขุดดิน เช่น จอบ พลั่ว ภาชนะใส่ดิน
- ตรวจสภาพพื้นที่แปลงที่เก็บตัวอย่างดิน ถ้าพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่นเป็นที่ลุ่ม ที่ดิน เนื้อดิน สีดินแตกต่างกันควรแบ่งเป็นแปลงย่อย
- สุ่มเก็บตัวอย่างดินกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่แต่ละแปลงๆละ 15-20 จุด โดยขุดหลุมลึกประมาณ *15 เซนติเมตรในแนวดิ่ง เป็นรูปตัว V แล้วแซะดินด้านข้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรเป็นดินตัวอย่าง 1 จุด (*หลักเกณฑ์ความลึกของดิน)
- *พืชทั่วไปขุดดินลึกประมาณ 15 เซนติเมตร (ระดับชั้นไถพรวน หรือระดับรากของพืช)
- *หญ้าขุดลึก 5 เซนติเมตรจากระดับผิวดิน
- *ไม้ผล ขุดลึก 30 เซนติเมตร ถ้าต้นไม้โตแล้วขุดบริเวณทรงพุ่มของต้นไม้
- นำดินแต่ละจุดที่ขุดได้มารวมกันเป็น 1 ตัวอย่างดินของแปลง แล้วนำมาพึ่งให้แห้งในที่ร่ม ถ้าดินเป็นก้อนทุบให้ละเอียดพอประมาณ
- นำดินที่แห้งแล้วมาคลุกเคล้ากัน แบ่งดินเป็น 4 ส่วน แล้วนำ 1 ส่วนหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม ใส่ถุงพลาสติก บันทึกรายละเอียดของดิน แล้วส่งวิเคราะห์
สถานที่ให้บริการ
- กลุ่มวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11
ช่องทางให้บริการ
- กลุ่มวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11
- ส่งทางพัสดุไปรณีย์ กลุ่มวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 เลขที่ 3 ซ.ธราธิบดี 7 ถ.ธราธิบดี ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 84130
- ถ้าเป็นข้อมูล / รายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ทางโทรศัพท์ 077-311110 ต่อ 522
เวลาติดต่อขอรับบริการ
- วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดที่ทางราชการกำหนด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. (มีพักเที่ยง 12.00-13.00 น.)
เอกสารที่ใช้ประกอบขอรับบริการ
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรที่ออกโดยหน่วยงานราชการ เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง เป็นต้น
ค่าธรรมเนียมวิเคราะห์ตัวอย่างดิน
- ค่าธรรมเนียมตรวจสอบตัวอย่างดินเป็นการเฉพาะราย เช่น วิเคราะห์ตัวอย่างดินสำหรับงานวิจัย (รายละเอียด กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขและอัตราค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ ตัวอย่างดิน เป็นการเฉพาะราย พ.ศ. 2555)
- ค่าธรรมเนียมตรวจสอบตัวอย่างดินของเกษตรกร ไม่เสียค่าธรรมเนียม
(เกษตรกร หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก)